วันพฤหัสบดีที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2556

แรงบันดาลใจในการแต่งบ้านแนวทะเล (Vintage Coastal my inspiration)


หลังจากที่ตามหาความฝันที่จะมีบ้านตากอากาศริมทะเลที่หัวหินมานานหลายปี  ต้นปี 2553  เราก็ได้บ้านในโครงการ “Boat House”  เป็นวิลล่าติดสระว่ายน้ำ (ลักษณะเหมือนทาวเฮ้าส์แหละค่ะ) มี 2 ชั้น 2 ห้องนอน ซึ่งเราคิดกันไว้ว่าจะตกแต่งบ้านเองโดยไม่ใช้มัณฑนากร ....คิดการใหญ่ยิ่งนัก.....

จากประสบการณ์ที่เคยเห็นบ้านตากอากาศของเพื่อน  คนรู้จักหรือคอนโด/บ้านมือสองที่เค้าประกาศขายตามเวปไซต์ต่าง ๆ  ที่มักแต่งบ้านด้วยเฟอร์นิเจอร์เท่าที่จะนึกและหาได้ในพื้นที่  (อันนี้ไม่ได้พูดถึงบ้านตากอากาศระดับอภิมหาเศรษฐีที่เค้าตกแต่งอย่างหรูหราสวยงามนะคะ)  ทั้งนี้อาจเป็นเพราะต้องการประหยัดค่าใช้จ่าย  ค่ามัณฑนากร และตัวเจ้าของเองก็ไม่มี  idea ในการตกแต่งบ้าน ไม่ชอบ ขี้เกียจหาซื้อ ไม่มีเวลา ฯลฯ เพราะคนไม่ชอบแต่งบ้านจะรู้สึกว่า  การต้องเลือกหาซื้อของเหล่านี้เป็นเรื่องยุ่งยากและไม่น่ารื่นรมณ์  ต่างจากคนที่ชอบ จะมีความสุขในการหาซื้อเฟอร์นิเจอร์และของตกแต่งที่ Match กับ theme ของบ้าน และตื่นเต้นเมื่อไปเจอร้านที่ขายของในสไตร์ที่กำลังค้นหา  จึงทำให้หน้าตาของบ้านตากอากาศที่ซื้อมาด้วยราคาไม่ใช่น้อย กลายสภาพเป็นบ้านอยู่อาศัยหน้าตาธรรมดา ๆ ที่ไม่มีบรรยากาศของบ้านผักผ่อนหลงเหลืออยู่    เนื่องจากนำเฟอร์นิเจอร์ที่จำเป็นมาวางตามความเหมาะสมเพื่อตอบสนองการใช้งานเพียงอย่างเดียวโดยไม่คำนึงถึงความสวยงาม   ในที่สุดบ้านดังกล่าวก็ถูกทิ้งไว้โดยไม่มีใครอยากไปพักผ่อน เพราะไม่ได้เป็นบ้านที่น่าอยู่และดึงดูดใจในฐานะบ้านตากอากาศเหมือนอย่างที่คิดฝันไว้ตอนที่ซื้ออีกต่อไป 



เรื่องเหล่านี้เป็นบทเรียนของคนอื่นที่เราต้องนำมาพิจารณาอย่างรอบคอบในการตัดสินใจซื้อบ้านตากอากาศ และบอกกับตัวเอง (และแฟน) ว่าจะตกแต่งบ้านหลังนี้ให้สวยและให้ความรู้สึกเป็น"บ้านตากอากาศ" ที่พวกเรามีความสุขที่ได้มาพักผ่อนที่บ้านนี้โดยไม่รู้เบื่อ โดยใช้งบประมาณน้อยที่สุด

โชคดีที่เป็นคนชอบงานตกแต่งเป็นทุนเดิม และการเปิดดูหนังสือตกแต่งบ้านเป็นงานอดิเรกที่โปรดปรานในวันหยุด  จึงสามารถเริ่มโปรเจ็คการตกแต่งบ้านตากอากาศของตัวเองได้ไม่ยากเย็น สำหรับเราแล้ว ความสนุกในการคิด ออกแบบและค้นหากำลังเริ่มต้นขึ้น


หนังสือตกแต่งบ้านที่สะสมไว้ เริ่มกลับมามีชีวิตอีกครั้ง  มันถูกหยิบมาพลิกไปยังหน้าต่าง ๆ ครั้งแล้วครั้งเล่า  เพื่อค้นหาว่า การตกแต่งแบบไหนที่ตรงใจเรามากที่สุด  กว่าจะสรุปได้ว่า Theme ของบ้านจะออกมาเป็นอย่างไร ก็เล่นเอาเหนื่อย  ถึงแม้เราจะเพียรนำเสนอข้อมูล รูปแบบของบ้านตากอากาศใน Theme ต่าง ๆ ให้สมาชิกในครอบครัวให้ช่วยกันเลือก  แต่ทุกคนก็ช่างแสนดี ตามใจแม่ทุกอย่าง (ความจริงขี้เกียจคิด) โดยให้คำตอบเหมือน ๆ กันว่า แล้วแต่แม่ เป็นคำตอบที่กดดันเอามาก ๆ เลยค่ะ เพราะ แล้วแต่แม่มันหมายความว่าแม่เป็นคนคิด ออกแบบและเป็นธุระในการไปจัดหามาทั้งหมด  และรับผิดชอบต่อความถูกใจและไม่ถูกใจของทุกคนในครอบครัวด้วย


........และแล้วเมฆฝนแห่งความลังเลก็เริ่มตั้งเค้า…………


ถ้าสิ่งที่เราเลือกแล้วมันไม่สวยล่ะ ! ถ้ามันเชย  !  ถ้าทำแล้วไม่มีใครชอบ ไม่มีใครชื่นชม ไม่มีใครบอกว่าสวยซักคน เราจะทำยังไง ? 

คนที่เป็นมัณฑนากรเค้าทำกันได้ยังไงนะ  ออกแบบบ้านให้คนโน้นคนนี้ ทั้งที่ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าเค้าชอบอะไร ชอบแบบไหน  นี่เรารู้อยู่แก่ใจว่าเราชอบอะไร สไตร์ไหน แถมยังออกแบบให้ตัวเองคนเดียว ยังยากเลย


หลังจากผ่านความเครียด ความกังวลมาพักใหญ่ ในที่สุดความคิดก็ตกผลึก Theme ของบ้านคือ แนวทะเล 


ความจริงเราเลือก Theme ทะเล ตั้งแต่ยังไม่ได้ซื้อบ้านตากอากาศซะด้วยซ้ำ  เพราะหลงไหลการตกแต่งแนวนี้มาตั้งแต่เห็นบ้านพัก ตากอากาศที่จังหวัดตราด และเก็บสะสมรูปภาพเหล่านั้นไว้นานนับสิบปี และถ้ามีโอกาสเจอการตกแต่งแนวนี้ในหนังสือตกแต่งฉบับไหนก็จะซื้อเก็บไว้เรื่อย ๆ เหมือน เก็บความฝันใส่ขวดโหล


 



แต่เมื่อต้องมาแต่งบ้านตากอากาศของตัวเองเข้าจริง ๆ กลับไม่กล้าทำตามความฝันของตัวเองในทันที เพราะ สิ่งที่เราชอบ ไม่ได้แปลว่าทุกคนจะชอบ  ทำให้ต้องมีการซาวเสียงสมาชิกในครอบครัวเกิดขึ้น  เมื่อมีคำตอบว่า แล้วแต่แม่  กลายเป็นเรื่องหนักใจที่เราต้องกลับมาทบทวนตัวเองอีกครั้งว่าชอบจริงหรือ  มันจะอยู่ได้นานเหมือนแนว Contemporary ซึ่งเป็นแนวกลาง ๆ ได้หรือ... 

เมื่อพยายามทบทวน (อย่างเข้าข้างตัวเอง) อยู่หลายครั้ง  สุดท้ายก็ได้คำตอบว่า  บ้านที่กรุงเทพก็เป็นแนว Contemporary อยู่แล้ว  การมาพักผ่อนคือต้องการรู้สึกง่าย ๆ สบาย ๆ กับมัน และก็มีบรรยากาศแตกต่างกับบ้านที่เราอยู่ทุกวัน  ซึ่งแนวทะเลน่าจะเป็นคำตอบที่ดีที่สุด (เพราะเราชอบ ฮี่ฮี่)


แนวที่เราแต่งขอให้คำจำกัดความว่า “Vintage Coastal ” ซึ่งถ้าจะให้อธิบายตามหลักการเราก็ไม่มีความรู้เพียงพอ แต่ถ้าจะให้บอกเล่าตามแนวการตกแต่งก็คือ การตกแต่งใช้สีฟ้า ขาวและน้ำเงินเป็นหลักเพื่อแทนสีของทะเล  ตู้เตี้ยสำหรับวางโทรทัศน์และใช้เป็นตู้เก็บเครื่องนอนทำจากไม้เก่าแบบดิบ ๆ ทำสีให้อารมณ์เหมือนสีของเรือตังเกที่ผ่านแดดผ่านฝนมาเป็นเวลานาน เฟอร์นิเจอร์หลัก ๆ เป็นสีขาว เช่นเตียงนอน  Day Bed รวมถึง Build-in ในห้อง Pantry  ของตกแต่งเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับทะเล เช่น เรือ ประภาคาร กลาสี ตะเกียง ไม้พาย ห่วงชูชีพ ฯลฯ  และแต่งเติมมุมต่าง ๆ ด้วยความชอบส่วนตัวคือของเก่า เช่น พัดลมและวิทยุสไตร์วินเทจ และที่ขาดไม่ได้คือไม้เก่าทาสีและเขียนข้อความเกี่ยวกับทะเลที่ดิฉันทำเอง เช่น Beach, SEA, Welcome to The Beach, Beach House





การกำหนด Function การใช้งาน เพื่อเลือกแบบของเฟอร์นิเจอร์
ตู้เสื้อผ้า 
เราบอกกับตัวเองเอาไว้ว่า ไม่ต้องการตู้แขวนเสื้อผ้า เพื่อไม่ให้บ้านดูดับแคบจากตู้ทรงสูงขนาดใหญ่แบบตู้เสื้อผ้าทั่วไป และคิดว่าการมาบ้านตากอากาศ ไม่ต้องการเสื้อที่รีดจนเรียบกรีบโง้งหรอก  เราใส่เสื้อยืดหรือเสื้อเชิ๊ตสบาย ๆ น่าจะเหมาะกว่า ซึ่งเราพับใส่กระเป๋าโยนขึ้นหลังรถมาก็เป็นอันเรียบร้อย  แต่ข้อสันนิฐานข้อนี้ของเราผิดค่ะ  สามีจะทนไม่ได้กับการใส่เสื้อผ้ายับ ๆ  ปัจจุบันก็เลยเป็นโจทย์ที่ต้องแก้ต่อ เรื่องหาที่แขวนเสื้อที่จะไม่ทำให้บรรยากาศของบ้านตากอากาศเสียไป เนื่องจากแขวนเสื้อเอาไว้ตามผนังเต็มไปหมด เพราะเราไม่มีตู้เสื้อผ้า

















ที่นอน 
วัตถุประสงค์หลักของบ้านนี้ นอกจากเป็นที่พักผ่อนของคนในครอบครัวแล้ว  กลุ่มเพื่อน (ทั้งของพ่อของลูก) มักจะมาขลุกอยู่พร้อมหน้าในเวลาเดียวกัน  ลูก ๆ หลาน ๆ สามารถพาพรรคพวกมาสังสรรค์เหมือนเป็น Camp ฤดูร้อนได้ด้วย  ดังนั้น จึงออกแบบให้มีที่นอนมาก ๆ สามารถรองรับแก๊งหลากแบบของพวกเราได้  ห้องนอนใหญ่จึงถูกออกแบบให้รองรับคนได้ถึง 5 คนหรือมากกว่านั้น (ถ้าเค้านอนเบียดกันได้) โดยมีเตียง 2 ชั้น 2 เตียง และเดย์เบดที่มุมห้องอีก 1












ส่วนในห้องนอนเล็ก สามารถรองรับคนได้ 3 คน มีเตียงขนาด 5.5 ฟุต และเดย์เบดที่สามารถเป็นได้ทั้งที่นอนและนั่งเล่นในเวลาเดียวกัน

 






และยังมี Day bed หน้าห้อง Pantry และโซฟาที่สามารถแปลงเป็นเตียงนอนในยามค่ำคืนที่มีผู้มาเยือนเป็นหมู่คณะ


การตกแต่งผนังบางจุดด้วยการทำ Build-in
บ้านหลังนี้ ใช้วิธีที่จะไม่ทำให้ต้องยุ่งยากหรือเปลืองเงินในการที่จะออกแบบภายในให้แตกต่างไปจากโครงสร้างเดิม  คิดว่ายิ่งทำมากก็อาจยิ่งมีปัญหาหรือไม่ได้ดังใจ  เพราะเเราไม่มีความถนัด จึงตัดสินใจทำ Build-in เฉพาะส่วนที่จำเป็นเท่านั้น คือ ด้านหัวเตียงในห้องนอนทั้ง 2 ห้อง และบริเวณโต๊ะอาหาร  


ในส่วนของครัว (Pantry) เราตัดสินใจเลือกทำครัว Build-in กับ brand Index เพราะเค้าจะมาวัดขนาดและส่งโรงงานทำ ใช้เวลาประมาณ 1 เดือน   เมื่อทำเสร็จสามารถมาติดตั้งได้ในวันเดียว จึงเป็นการดี เพราะเราไม่สามารถมาเฝ้าให้ช่างทำงานติดต่อกันหลาย ๆ วันได้ ซึ่งการทำ Build-in ครัวโดยช่างทั่วไปอาจใช้เวลา 2 อาทิตย์หรือมากกว่า

ความช่วยเหลือจากเพื่อนสนิท  
เฟอร์นิเจอร์หลายชิ้น ได้ idea จากหนังสือตกแต่งบ้านที่สะสมไว้  ซึ่งเป็นประโยชน์ในแง่ที่ไม่ต้องจ้างมัณฑนากรมาออกแบบ เอารูปจาก magazine ไปบอกให้ช่างทำตามแบบได้เลย  หนังสือตกแต่งบ้านจึงเหมือนเพื่อนสนิทที่รู้จักกันเงียบ ๆ มานาน
ในรูปเป็นแบบตู้ที่เขียนและกำหนด Dimension เอง แนบกับรูปที่ตัดจากหนังสือ  ไปปรึกษากับช่างเพื่อทำตู้ตามแบบค่ะ โชคดีที่ผิดพลาดน้อยมาก คือความสูงไม่ได้ดูว่ามันสูงกว่าปลั๊กไฟ ซึ่งทำให้ต้องจ้างช่างมาย้ายปลั๊กไฟใหม่ สาเหตุมาจากไม่มีความรู้เกี่ยวกับขนาดที่ถูกต้องของเฟอร์นิเจอร์



ด้านซ้ายเป็นแบบจากนิตยสารตกแต่ง  ด้านขวาเป็นตู้ที่จ้างช่างทำค่ะ 














เพื่อนของพ่อ เพื่อนของลูกมาพักผ่อนกันก็ชมว่าบ้านสวย  รู้สึกอิ่มเอมและมีความสุขกับบ้านหลังนี้มากค่ะ ได้บ้านที่ ตรงใจ ด้วยงบประมาณการตกแต่งที่จำกัด

ไม่มีความคิดเห็น: