หลังจากที่ตามหาความฝันที่จะมีบ้านตากอากาศริมทะเลที่หัวหินมานานหลายปี ต้นปี 2553 เราก็ได้บ้านในโครงการ “Boat House” เป็นวิลล่าติดสระว่ายน้ำ (ลักษณะเหมือนทาวเฮ้าส์แหละค่ะ) มี 2 ชั้น 2 ห้องนอน ซึ่งเราคิดกันไว้ว่าจะตกแต่งบ้านเองโดยไม่ใช้มัณฑนากร ....อาจหาญยิ่งนัก.....
จากประสบการณ์ที่เคยเห็นบ้านตากอากาศของเพื่อน คนรู้จักหรือคอนโด/บ้านมือสองที่เค้าประกาศขายตามเวปไซต์ต่าง ๆ ที่มักแต่งบ้านด้วยเฟอร์นิเจอร์เท่าที่จะนึกและหาได้ในพื้นที่ (อันนี้ไม่ได้พูดถึงบ้านตากอากาศระดับอภิมหาเศรษฐีที่เค้าตกแต่งอย่างหรูหราสวยงามนะคะ) ทั้งนี้อาจเป็นเพราะต้องการประหยัดค่าใช้จ่าย ค่ามัณฑนากร (เช่นเดียวกับอีชั้น) และตัวเจ้าของเองก็ไม่มี idea ในการตกแต่งบ้าน ไม่ชอบ ขี้เกียจหาซื้อ ไม่มีเวลา ฯลฯ เพราะคนไม่ชอบแต่งบ้านจะรู้สึกว่า การต้องเลือกหาซื้อของเหล่านี้เป็นเรื่องยุ่งยากและไม่น่ารื่นรมณ์ ต่างจากคนที่ชอบ จะมีความสุขในการหาซื้อเฟอร์นิเจอร์และของตกแต่งที่ Match กับ theme ของบ้าน และตื่นเต้นเมื่อไปเจอร้านที่ขายของในสไตร์ที่กำลังค้นหา จึงทำให้หน้าตาของบ้านตากอากาศที่ซื้อมาด้วยราคาไม่ใช่น้อย กลายสภาพเป็นบ้านอยู่อาศัยหน้าตาธรรมดา ๆ ที่ไม่มีบรรยากาศของบ้านผักผ่อนหลงเหลืออยู่ เนื่องจากนำเฟอร์นิเจอร์ที่จำเป็นมาวางตามความเหมาะสมเพื่อตอบสนองการใช้งานเพียงอย่างเดียวโดยไม่คำนึงถึงความสวยงาม ในที่สุดบ้านดังกล่าวก็ถูกทิ้งไว้โดยไม่มีใครอยากไปพักผ่อน เพราะไม่ได้เป็นบ้านที่น่าอยู่และดึงดูดใจในฐานะบ้านตากอากาศเหมือนอย่างที่คิดฝันไว้ตอนที่ซื้ออีกต่อไป
เรื่องเหล่านี้เป็นบทเรียนของคนอื่นที่เรานำมาพิจารณาอย่างรอบคอบในการตัดสินใจซื้อบ้านตากอากาศ และบอกกับตัวเอง (และแฟน) ว่าจะตกแต่งบ้านหลังนี้ให้สวยและให้ความรู้สึกเป็น"บ้านตากอากาศ" ที่พวกเรามีความสุขที่ได้มาพักผ่อนที่บ้านนี้โดยไม่รู้เบื่อ โดยใช้งบประมาณน้อยที่สุด
โชคดีที่เป็นคนชอบงานตกแต่งเป็นทุนเดิม และการเปิดดูหนังสือตกแต่งบ้านเป็นงานอดิเรกที่โปรดปรานในวันหยุด จึงสามารถเริ่มโปรเจ็คการตกแต่งบ้านตากอากาศของตัวเองได้ไม่ยากเย็น และสำหรับเราแล้ว ความสนุกในการคิด ออกแบบและค้นหากำลังเริ่มต้นขึ้น
หนังสือตกแต่งบ้านที่สะสมไว้ เริ่มกลับมามีชีวิตอีกครั้ง มันถูกหยิบมาพลิกไปยังหน้าต่าง ๆ ครั้งแล้วครั้งเล่า เพื่อค้นหาว่า การตกแต่งแบบไหนที่ตรงใจเรามากที่สุด กว่าจะสรุปได้ว่า Theme ของบ้านจะออกมาเป็นอย่างไร ก็เล่นเอาเหนื่อย ถึงแม้เราจะเพียรนำเสนอข้อมูล รูปแบบของบ้านตากอากาศใน Theme ต่าง ๆ ให้สมาชิกในครอบครัวให้ช่วยกันเลือก แต่ทุกคนก็ช่างแสนดี ตามใจแม่ทุกอย่าง (ความจริงขี้เกียจคิด) โดยให้คำตอบเหมือน ๆ กันว่า “แล้วแต่แม่” เป็นคำตอบที่กดดันเอามาก ๆ เลยค่ะ เพราะ “แล้วแต่แม่” มันหมายความว่าแม่เป็นคนคิด ออกแบบและเป็นธุระในการไปจัดหามาทั้งหมด และรับผิดชอบต่อความถูกใจและไม่ถูกใจของทุกคนในครอบครัวด้วย
........และแล้วเมฆฝนแห่งความลังเลก็เริ่มตั้งเค้า…………
ถ้าสิ่งที่เราเลือกแล้วมันไม่สวยล่ะ ! ถ้ามันเชย ! ถ้าทำแล้วไม่มีใครชอบ ไม่มีใครชื่นชม ไม่มีใครบอกว่าสวยซักคน เราจะทำยังไง ?
คนที่เป็นมัณฑนากรเค้าทำกันได้ยังไงนะ ออกแบบบ้านให้คนโน้นคนนี้ ทั้งที่ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าเค้าชอบอะไร ชอบแบบไหน นี่เรารู้อยู่แก่ใจว่าเราชอบอะไร สไตร์ไหน แถมยังออกแบบให้ตัวเองคนเดียว ยังยากเลย
คนที่เป็นมัณฑนากรเค้าทำกันได้ยังไงนะ ออกแบบบ้านให้คนโน้นคนนี้ ทั้งที่ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าเค้าชอบอะไร ชอบแบบไหน นี่เรารู้อยู่แก่ใจว่าเราชอบอะไร สไตร์ไหน แถมยังออกแบบให้ตัวเองคนเดียว ยังยากเลย
หลังจากผ่านความเครียด ความกังวลมาพักใหญ่ ในที่สุดความคิดก็ตกผลึก Theme ของบ้านคือ “แนวทะเล”
ความจริงแล้วเรา..เลือก Theme ทะเล ตั้งแต่ยังไม่ได้ซื้อบ้านตากอากาศซะด้วยซ้ำ เพราะหลงไหลการตกแต่งแนวนี้มาตั้งแต่เห็นบ้านพัก “ตากอากาศ” ที่จังหวัดตราด และเก็บสะสมรูปภาพเหล่านั้นไว้นานนับสิบปี และถ้ามีโอกาสเจอการตกแต่งแนวนี้ในหนังสือตกแต่งฉบับไหนก็จะซื้อเก็บไว้เรื่อย ๆ เหมือน เก็บความฝันใส่ขวดโหล
โบรชัวร์ "บ้านตากอากาศ" จังหวัดตราด
แต่เมื่อต้องมาแต่งบ้านตากอากาศของตัวเองเข้าจริง ๆ กลับไม่กล้าทำตามความฝันของตัวเองในทันที เพราะ “สิ่งที่เราชอบ ไม่ได้แปลว่าทุกคนจะชอบ” ทำให้ต้องมีการซาวเสียงสมาชิกในครอบครัวเกิดขึ้น เมื่อมีคำตอบว่า “แล้วแต่แม่” กลายเป็นเรื่องหนักใจที่เราต้องกลับมาทบทวนตัวเองอีกครั้งว่าชอบจริงหรือ มันจะอยู่ได้นานเหมือนแนว Contemporary ซึ่งเป็นแนวกลาง ๆ ได้หรือ...
เมื่อพยายามทบทวน (อย่างเข้าข้างตัวเอง) อยู่หลายครั้ง สุดท้ายก็ได้คำตอบว่า บ้านที่กรุงเทพก็เป็นแนว Contemporary อยู่แล้ว การมาพักผ่อนคือต้องการรู้สึกง่าย ๆ สบาย ๆ กับมัน และก็มีบรรยากาศแตกต่างกับบ้านที่เราอยู่ทุกวัน ซึ่งแนวทะเลน่าจะเป็นคำตอบที่ดีที่สุด (เพราะเราชอบ ฮี่ฮี่)
แนวที่เราแต่งขอให้คำจำกัดความว่า “Vintage Coastal ” ซึ่งถ้าจะให้อธิบายตามหลักการเราก็ไม่มีความรู้เพียงพอ แต่ถ้าจะให้บอกเล่าตามแนวการตกแต่งของเราก็คือ การตกแต่งใช้สีฟ้า ขาวและน้ำเงินเป็นหลักเพื่อแทนสีของทะเล ตู้เตี้ยสำหรับวางโทรทัศน์และใช้เป็นตู้เก็บเครื่องนอนทำจากไม้เก่าแบบดิบ ๆ ทำสีให้อารมณ์เหมือนสีของเรือตังเกที่ผ่านแดดผ่านฝนมาเป็นเวลานาน เฟอร์นิเจอร์หลัก ๆ เป็นสีขาว เช่นเตียงนอน Day Bed รวมถึง Build-in ในห้อง Pantry ของตกแต่งเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับทะเล เช่น เรือ ประภาคาร กลาสี ตะเกียง ไม้พาย ห่วงชูชีพ ฯลฯ และแต่งเติมมุมต่าง ๆ ด้วยความชอบส่วนตัวคือของเก่า เช่น พัดลมและวิทยุสไตร์วินเทจ และที่ขาดไม่ได้คือไม้เก่าทาสีและเขียนข้อความเกี่ยวกับทะเลที่ทำขึ้นเอง เช่น Beach, SEA, Welcome to The Beach, Beach House
กำหนด Function การใช้งาน เพื่อเลือกแบบของเฟอร์นิเจอร์
ตู้เสื้อผ้า - บอกกับตัวเองเอาไว้ว่า ไม่ต้องการตู้แขวนเสื้อผ้า เพื่อไม่ให้บ้านดูดับแคบจากตู้ทรงสูงขนาดใหญ่แบบตู้เสื้อผ้าทั่วไป และคิดว่าการมาบ้านตากอากาศ ไม่ต้องการเสื้อที่รีดจนเรียบกรีบโง้งหรอก เราใส่เสื้อยืดหรือเสื้อเชิ๊ตสบาย ๆ น่าจะเหมาะกว่า ซึ่งเราพับใส่กระเป๋าโยนขึ้นหลังรถมาก็เป็นอันเรียบร้อย แต่ข้อสันนิฐานข้อนี้ของเราผิดค่ะ สามีจะทนไม่ได้กับการใส่เสื้อผ้ายับ ๆ ปัจจุบันก็เลยเป็นโจทย์ที่ต้องแก้ต่อ เรื่องหาที่แขวนเสื้อที่จะไม่ทำให้บรรยากาศของบ้านพักผ่อนของเราเสียไป เนื่องจากแขวนเสื้อเอาไว้ตามผนังเต็มไปหมด เพราะเราไม่มีตู้เสื้อผ้า
Side Board สำหรับวางโทรทัศน์และเป็นที่เก็บหมอนและผ้าห่ม ใช้ไม้เก่าทาสีให้อารมณ์เหมือนเรือตังเก (สีฟ้า) และใช้สีขาว สำหรับห้องนอนเล็ก
ที่นอน
วัตถุประสงค์หลักของบ้านนี้ นอกจากเป็นที่พักผ่อนของคนในครอบครัวแล้ว กลุ่มเพื่อน (ทั้งของพ่อของลูก) มักจะมาขลุกอยู่พร้อมหน้าในเวลาเดียวกัน ลูก ๆ หลาน ๆ สามารถพาพรรคพวกมาสังสรรค์เหมือนเป็น Camp ฤดูร้อนได้ด้วย ดังนั้น จึงออกแบบให้มีที่นอนมาก ๆ สามารถรองรับแก๊งค์หลากแบบของพวกเราได้ ห้องนอนใหญ่จึงถูกออกแบบให้รองรับคนได้ถึง 5 คนหรือมากกว่านั้น (ถ้าเค้านอนเบียดกันได้) โดยมีเตียง 2 ชั้น 2 เตียง และเดย์เบดที่มุมห้องอีก 1
ส่วนในห้องนอนเล็ก สามารถรองรับคนได้ 3 คน มีเตียงขนาด 5.5 ฟุต และเดย์เบดที่สามารถเป็นได้ทั้งที่นอนและนั่งเล่นในเวลาเดียวกัน
และยังมี Day bed หน้าห้อง Pantry และโซฟาที่สามารถแปลงเป็นเตียงนอนในยามค่ำคืนที่มีผู้มาเยือนเป็นหมู่คณะ
การตกแต่งผนังบางจุดด้วยการทำ Build-in
บ้านหลังนี้ ใช้วิธีที่จะไม่ทำให้ต้องยุ่งยากหรือเปลืองเงินในการที่จะออกแบบภายในให้แตกต่างไปจากโครงสร้างเดิม คิดว่ายิ่งทำมากก็อาจยิ่งมีปัญหาหรือไม่ได้ดังใจ เพราะเเราไม่มีความถนัด จึงตัดสินใจทำ Build-in เฉพาะส่วนที่จำเป็นเท่านั้น คือ ด้านหัวเตียงในห้องนอนทั้ง 2 ห้อง และบริเวณโต๊ะอาหาร
ในส่วนของครัว (Pantry) เราตัดสินใจเลือกทำครัว Build-in กับ brand Index เพราะเค้าจะมาวัดขนาดและส่งโรงงานทำ ใช้เวลาประมาณ 1 เดือน เมื่อทำเสร็จสามารถมาติดตั้งได้ในวันเดียว จึงเป็นการดี เพราะเราไม่สามารถมาเฝ้าให้ช่างทำงานติดต่อกันหลาย ๆ วันได้ ซึ่งการทำ Build-in ครัวโดยช่างทั่วไปอาจใช้เวลา 2 อาทิตย์หรือมากกว่า
ความช่วยเหลือจากเพื่อนสนิท
เฟอร์นิเจอร์หลายชิ้น ได้ idea จากหนังสือตกแต่งบ้านที่สะสมไว้ ซึ่งเป็นประโยชน์ในแง่ที่ไม่ต้องจ้างมัณฑนากรมาออกแบบ เอารูปจาก magazine ไปบอกให้ช่างทำตามแบบได้เลย หนังสือตกแต่งบ้านจึงเหมือนเพื่อนสนิทที่รู้จักกันเงียบ ๆ มานาน
ในรูปเป็นแบบตู้ที่เราเขียนและกำหนด Dimension เอง แนบกับรูปที่ตัดจากหนังสือ ไปปรึกษากับช่างเพื่อทำตู้ตามแบบค่ะ โชคดีที่ผิดพลาดน้อยมาก คือความสูงไม่ได้ดูว่ามันสูงกว่าปลั๊กไฟ ซึ่งทำให้ต้องจ้างช่างมาย้ายปลั๊กไฟใหม่ สาเหตุมาจากไม่มีความรู้เกี่ยวกับขนาดที่ถูกต้องของเฟอร์นิเจอร์
เพื่อนของพ่อ เพื่อนของลูกมาพักผ่อนกันก็ชมว่าบ้านสวย รู้สึกอิ่มเอมและมีความสุขกับบ้านหลังนี้มากค่ะ ได้บ้านที่ “ตรงใจ” ด้วยงบประมาณการตกแต่งที่จำกัด
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น